ผู้หญิงกับความงาม
"สำหรับผู้หญิง ความงามต้องมาก่อนเสมอ" คำกล่าวนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับและรู้สึกกันว่า "เป็นธรรมชาติ" ของผู้หญิงที่ต้องรักสวยรักงาม ในขณะที่ไม่ใช่ "ธรรมชาติของผู้ชาย" สังคมไทยมีคำพูดที่ชินหู คือ ผู้หญิงมีรูปเป็นทรัพย์ ซึ่งมาจากโคลงโลกนิติบทที่ว่า
เปนชายความรู้ยิ่ง เปนทรัพย์
ตกประเทศบมีผู้นับ อ่านอ้าง
สตรีรูปงามสรัพ เปนทรัพย์ ตนนา
แม้ตกยากไร้ร้าง ห่อนไร้สามี
ความงามเป็นของคู่กับผู้หญิงตามธรรมชาติจริงหรือ ถ้าพิจารณาจากนางในวรรณคดี 67 รายที่มีผู้รวบรวมมา ก็พบว่ามีความงามเป็นเลิศทั้งสิ้น (ยกเว้นนางประแดะจากเรื่องระเด่นลันได) ถ้าไม่งามโดยกำเนิดก็ถูกทำให้งาม และด้วยความงามนี่แหละที่ทำให้ชายผู้สูงศักดิ์มาลุ่มหลงแต่ถ้าไม่สวยแม้เก่งเพียงใดก็ไม่มีประโยชน์ เช่น ในเรื่องอรชุน เจ้าหญิงจิตราไม่ค่อยสวยแต่มีความสามารถในการรบ เกิดหลงรักพระอรชุน แต่พระอรชุนไม่สนใจ เจ้าหญิงจิตราจึงต้องขอให้เทพช่วยแปลงโฉมตนจนงาม พระอรชุนจึงมาหลงรัก เช่นเดียวกับเรื่องแก้วหน้าม้า ซึ่งไม่สวยเช่นกันแต่มีความสามารถพิเศษในการรู้ล่วงหน้าเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นเมื่อไรจะมีภัยพิบัติ เป็นต้น แต่พระปิ่นทองไม่รักเช่นกัน ต้องร้อนถึงเทพ ซึ่งส่วนใหญ่คือพระอินทร์มาช่วยถอดหน้าม้าออก จึงได้สมรัก สิ่งที่น่าสนใจคือ นางในวรรณคดีเหล่านี้โดยเฉพาะที่เป็นนางเอกจะสัมพันธ์กับเรื่องราวของชนชั้นสูงทั้งสิ้น กล่าวคือ เป็นมเหสีหรือนางสนมของกษัตริย์ หรือเป็นเจ้าหญิงต่างเมือง หรือ ลูกสาวคหบดี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความงามเป็นคุณสมบัติของหญิงสูงศักดิ์ "ขึ้นชื่อว่าสตรีมีอิสริยยศแล้วย่อมรักใคร่ในการที่จะตกแต่งกายาสิ้นทุกตัวตน" (นางนพมาศ) ในวรรณกรรมอีสาน การบรรยายถึงเรื่องความงามจะอยู่ในบริบทของการหาคู่ครองให้กับบุตรของเจ้าผู้ครองนคร เช่น วรรณกรรมเรื่องท้าวฮุงหรือเจือง
ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ต้องงดงามผ่านทางวรรณกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในสตรีสูงศักดิ์ความงามกับหญิงสูงศักดิ์ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ จำนวนภรรยาเป็นตัวบ่งบอกถึงฐานะและบารมีของผู้ชาย ความงามของภรรยาก็จัดว่าเป็นส่วนประกอบของบารมี จากไตรภูมิกถา (อ้างใน สุพัตรา หน้า42) นางงามถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบเจ็ดประการที่ช่วยเสริมบารมีฐานะความเป็นกษัตริย์ ในขณะที่ความงามสำหรับหญิงสามัญชนไม่ได้ถูกกล่าวถึง และในความเป็นจริงคงไม่มีความสำคัญนัก ปทุมถันของหญิงชาวสยามมิเต่งตึงอยู่ได้เมื่อพ้นวัยสาวรุ่นแล้ว และยานย้อย ลงมาเกือบถึงท้องน้อยในเวลาไม่ช้านาน…[แต่]มิได้เป็นที่รำคาญตาสามี ของนางแต่ประการใด…..พวกผู้หญิงชาวสยามไม่ใช้ชาดทาปากทาแก้ม หรือแต้มไฝเลย (จดหมายเหตุลาลูแบร์) หญิงในชนบทเมื่อประมาณ 50-60 ปีก่อน จะมีผ้าซิ่นที่ทอเป็นพิเศษเพื่อใช้ใส่ไปวัดในงานบุญเพียงตัวเดียว เมื่อใส่ในวันนั้นแล้วต้องรีบเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป ซึ่งการต้องดูดีเป็นพิเศษในการไปงานบุญคงเป็นจริงทั้งหญิงและชาย จากภาพถ่ายเก่า ๆ จะพบว่าผู้หญิงไทยโดยทั่ว ๆ ไป ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสวยความงามกันนัก
การรับรู้และคาดหวังว่า ความงามควรเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้หญิงทุกคนถูกทำให้ปรากฏในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้หญิงทุกคนกลายเป็น "ดอกไม้ของชาติ" และผู้หญิงถูกบอกว่าต้องรู้จักแต่งกายให้สวยงามทันสมัยอยู่เสมอ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายในการสร้างชาติ และกำหนดนโยบายว่าผู้หญิงควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร นโยบายของจอมพล ป. ได้สร้างความคาดหวังต่อ "ความเป็นผู้หญิงไทย" ขึ้นใหม่ นอกจากเป็น "ดอกไม้ของชาติ" แล้ว "เมีย[ยัง]เปนเพสที่อ่อนแอ" ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนหวาน "หญิงไทย 9 ล้านคนนี้เปนเพสอ่อนหวานน่าถนอมไว้มากกว่าจะไช้แบกหามหรือทำสิ่งหนัก" (จอมพล ป. อ้างในนันทิรา) เพราะฉะนั้นผู้หญิงไทยจึงถูกสนับสนุนให้ทำงานในร่ม ส่งเสริมการประกอบอาชีพหัตถกรรม เย็บปักถักร้อย งานพยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามได้แต่งบทละคร บทประพันธ์ ยกย่องผู้หญิงในฐานะที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ และในฐานะที่เป็นดอกไม้ของชาติ หลวงวิจิตรวาทการได้ปรับปรุงการแต่งกายของผู้หญิงไทยให้มีความทันสมัยแบบตะวันตก เพื่อความเป็น "อารยะชาติ" สตรีไทยถูกขอให้เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบนและคาดผ้าแถบ ให้มานุ่งซิ่นและสวมเสื้อ สวมกระโปรง สวมหมวกและรองเท้า นโยบายสำหรับผู้หญิงเหล่านี้ได้ถูกส่งผ่านทางหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เช่น สำนักงานวัฒนธรรมฝ่ายหญิง กรมโฆษณาการ หนังสือพิมพ์รายวันต่าง ๆ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข
ความคาดหวังของสังคมที่ผู้หญิงต้องมีความสวยงาม นำไปสู่การเกิดอาชีพต่าง ๆ เกี่ยวกับความงามมากขึ้น เช่น ช่างเสริมสวย ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างทำผม (นันทิรา เพิ่งอ้าง) ประจวบกับในขณะนั้น ได้มีการจัดให้มีการประกวดนางงาม(นางสาวสยาม) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 ในงานวันฉลองรัฐธรรมนูญโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัด และใช้เวทีประกวดเพื่อสนับสนุนนโยบายบริหารงานของรัฐ การประกวดนี้ถือเป็นนโยบายของรัฐและได้พยายามจัดให้มีการประกวดในทุกจังหวัด การจัดให้มีการประกวดในระยะแรกเป็นไปอย่างไม่ค่อยราบรื่น เพราะไม่ค่อยมีผู้หญิงเข้ามาร่วมประกวดมากนัก สะท้อนให้เห็นจากคำกล่าวของพระยาสุนทรพิพิธ ประธานจัดประกวดนางสาวไทย 2479 ที่ว่า
“การประกวดนางงามในประเทศเรา…ได้เริ่มมาแล้ว 2 ปีน่าเป็นที่นิยมดีอยู่ว่า กิจการเรื่องนี้ได้แพร่หลายไปตามหัวเมืองชนบทเกือบทั่วถึงแล้ว [แต่] ความรู้สึก ที่ว่ากิจการนี้เป็นเกียรติยศของชาติและเป็นประเพณีอันมีมาแต่โบราณนั้น ยัง มิได้คิดเห็นกันโดยทั่วถึง จึงบางท่านก็ยังมีความละอายอยู่ และบางท่านก็เห็น เป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศ จึงยังมิได้มีการ่วมมือโดยพร้อมเพรียง”
กระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายไม่ส่งเสริมให้ครูหรือนักเรียนเข้าประกวดนางสาวไทย การประกวดในช่วงแรกหยุดไปในปี 2497 และได้กลับมามีขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2507-2515 พร้อมกับการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจทุนนิยมและการเติบโตอย่างสูงของธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย การประกวดนางสาวไทยมีขึ้นในครั้งหลังนี้เพื่อหาสาวงามไปประกวดที่ต่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และในช่วงนั้นก็เป็นยุคเฟื่องฟูของกิจกรรมด้านบันเทิงและด้านความงาม และสืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ความงามของผู้หญิงกลายเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งรายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ความงามของผู้หญิงขายได้ในสังคมทุนนิยม ในขณะเดียวกันการสร้างความงามให้กับผู้หญิงก็กลายเป็นธุรกิจจำนวนมหาศาลเช่นกัน
ดังนั้น "สำหรับผู้หญิง ความงามต้องมาก่อน" ดูจะเป็นวาทกรรมแห่งยุคทุนนิยมโดยแท้
ที่มา: ตัดตอนจาก “ความเป็นผู้หญิงไทย” บทความจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน